ReadyPlanet.com


ตำนานทองบางสะพานแห่งอำเภอบางสะพานของจังหวัดประจวบ


ตำนานทองบางสะพานคลิกดูได้ที่นี่
http://76.nationchannel.com/playvideo.php?id=49245


ผู้ตั้งกระทู้ คนบางสะพาน :: วันที่ลงประกาศ 2009-12-28 10:16:20


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3147693)

อำเภอบางสะพาน
    อ่าวแม่รำพึง ห่างจากตัวเมืองประจวบฯประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม)แยกเข้าตัวอำเภอบางสะพานไปประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งหาดทรายขาว มีถนนเลาะเลียบตลอดแนวชายหาด มีร้านอาหารทะเลบริการนักท่องเที่ยวเหมาะสำหรับพักผ่อน
    อ่าวบ่อทองหลาง ห่างจากอ่าวแม่รำพึงตามถนนเลียบชายหาดประมาณ 4 กิโลเมตร มีชายหาดโค้งเป็นรูปวงกลมอยู่ริมเชิงเขาหาดทรายขาวและเกาะหินขนาดเล็กตั้งเรียงรายด้านหน้าอ่าวสามารถลงเล่นน้ำได้ บริเวณชายหาดมีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มบริการนักท่องเที่ยว
    ตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่บนเขาธงชัย ท้องที่บ้านกรูด ซึ่งแยกจากถนนเพชรเกษมเข้าไปทางซ้ายประมาณ 16 กิโลเมตร จะพบตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สวยเด่นเป็นสง่าบนยอดเขาธงชัย หันหน้าออกสู่ทะเล บริเวณรอบ ๆ มีสวนไม้ดอก ไม้ประดับ และสำนักสงฆ์ซึ่งเชื่อกันว่ากรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เคยเสด็จมาประทับ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อพักทอดสมอเรือรบ นอกจากนี้บนเขาธงชัยยังเป็นที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์เก้ายอด เป็นจุดชมวิวที่จะเห็นชายหาดที่ทอดตัวเป็นแนวตรงริมหาดชอุ่มเขียวด้วยสวนมะพร้าวกว้างใหญ่เป็นความงามที่ผสานผสมหาดทราย น้ำทะเลและทิวมะพร้าวรวมกันเป็นภาพที่สวยงามลงตัวมาก
    เกาะลำร่า เป็นเกาะหินขนาดปานกลางอยู่ที่ตำบลธงชัย (อยู่ระหว่างเขตอำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน) บริเวณรอบเกาะมีแนวประการัง บนเกาะเป็นที่อยู่ของชาวประมง
    ถ้ำเขาม้าร้อง ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางสะพานไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีหลายคูหาซึ่งมีผู้ดูแลติดตั้งไฟฟ้าแสงสีต่าง ๆ ประดับประดาทำให้บรรยากาศในถ้ำดูสวยงามน่าสนใจ ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีพระพุทธรูปวางเรียงรายตลอดแนว รถยนต์สามารถเข้าถึงปากถ้ำได้
 
   
   
อำเภอบางสะพานน้อย เกาะทะลุ เกาะสังข์ เกาะสิงห์ เป็นเกาะที่อยู่ใกล้ ๆ กัน บริเวณรอบ ๆ เกาะอุดมไปด้วยปะการังสีสวย หาดทรายขาวสะอาด เหมาะสำหรับผู้นิยมดำน้ำชมปะการัง และตกปลา นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าเรือบ้านปากคลอง ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที การเดินทาง จากถนนเพชรเกษมแยกซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 399 ตามเส้นทางบางสะพาน-ชายทะเลไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงตลาดบางสะพานเลี้ยวขวาเข้าถนนบางสะพาน-หนองทัดไทซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดบางสะพานไปอีก 10 กิโลเมตร ท่าเรือจะอยู่ทางซ้ายมือ

สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก ของฝากจากอำเภอหัวหิน ได้แก่ เครื่องประดับทำจากกะลามะพร้าว ผ้าพิมพ์โขมพัตถ์ ผ้าพิมพ์ลายไทย ไม้กวาดปัดฝุ่น เครื่องใช้ทำจากป่านศรนารายณ์ เครื่องจักสานไม้ไผ่ตลอดจนอาหารทะเลสด และแห้ง
    ของฝากจากอำเภอปราณบุรี ได้แก่ ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์สับปะรด และผลไม้อบแห้ง
    ของฝากจากอำเภอทับสะแก ได้แก่ กล้วยอบน้ำผึ้ง มะพร้าวอบน้ำผึ้ง และผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้

งานประเพณีงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเขาช่องกระจก จัดขึ้นที่เขาช่องกระจก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี ภายในงานจัดให้มีพิธีถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และการห่มผ้ารอบเจดีย์ นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมงานสามารถชมภูมิทัศน์ของอ่าวประจวบฯอ่าวน้อยและอ่าวมะนาวจากยอดภูเขากลางเมืองได้อีกด้วย
   งานวันที่ระลึก วีรกรรม 8 ธันวาคม 2484 จัดขึ้นที่บริเวณอ่าวมะนาว ภายในพื้นที่กองบิน 53 อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม เพื่อเป็นการรำลึกและเชิดชูวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ ทหารของไทยที่เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังทหารญี่ปุ่น ซึ่งยกพลขึ้นบกที่อ่าวมะนาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ภายในงานมีการจัดนิทรรศการทางวิชาการของหน่วยงานทหารอากาศ และส่วนราชการต่าง ๆ และมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง การแสดงมหรสพ เช่น ลำตัด และโขนสด
 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนบ้านกรูดบางสะพาน วันที่ตอบ 2009-12-28 10:19:48


ความคิดเห็นที่ 2 (3147697)

จากอุทกภัยที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘  ที่เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลทะลักเข้าท่วม  ชาวบ้านต่างอพยพหนีเอาชีวิตรอด  แต่หลังน้ำลด มีผู้คนพบแร่ทองคำในพื้นที่คลองทอง ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จำนวนมาก  พอมีคนมาขุดทองกันมากขึ้น ก็เริ่มพบโครงกระดูกมนุษย์ชิ้นเล็กๆ และเครื่องปั้นดินเผาหม้อดินแตกกระจายทั่วบริเวณ 

 น.ส.พยุง วงศ์น้อย นักโบราณคดีจากสำนักงานศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี เปิดเผยว่าบริเวณที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผา นี้เป็นแหล่งโบราณคดีในยุคของการร่อนทอง ซึ่งดูจากภาชนะดินเผาแล้วเป็นลวดลายของจีน/เวียดนาม ซึ่งพบส่วนใหญ่อยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยา มีอายุประมาณ ๒๕๐ ปี หรือในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  โดยจะนำสิ่งของที่ค้นพบไปตรวจสอบทางโบราณคดีต่อไป

นายกฤษดา หมวดน้อย กรรมการสภาวัฒนธรรม อ.บางสะพาน กล่าวว่า ทองบางสะพานมีมาแต่ในอดีต ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการไปร่อนทองที่บางสะพาน นำไปหุ้มยอดมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี  และ"ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ก็ได้กล่าวถึงขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น ทำด้วยทองถ้วนบาทชาติบางตะพาน  ในขณะที่นางวันทองเตรียมข้าวของให้พลายงามเพื่อหนีภัยจากขุนช้าง ยังมีการระบุว่า "แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย" จึงนับว่าบางสะพานหรือบางตะพานในอดีต โด่งดังในเรื่องของทอง  (ข่าวสด ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙)
ผู้แสดงความคิดเห็น คนบางสะพานอยากให้อ่านครับ วันที่ตอบ 2009-12-28 10:21:56


ความคิดเห็นที่ 3 (3147704)

ทธ.รายงานเรื่องชาวบ้านตื่นทองบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมทรัพยากรธรณี  วันที่ 2 ธ.ค. 2548 
ตามที่ หนังสือพิมพ์คมชัดลึกและข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2548 ได้ลงข่าวว่าชาวบ้านพากันไปร่อนทองคำ
ที่บ้านป่าร่อน ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบางรายโชคดีพบทองคำก้อนหนักถึง 5 บาท   ทธ. ขอรายงานข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้   1. ทองคำที่บ้านป่าร่อน ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งแร่ทองคำโบราณ มีบันทึกไว้ว่า พบครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2290 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ครั้งนั้นได้โปรดให้ร่อนทองคำตั้งแต่เดือน 12 ถึงสิ้นเดือน 5 พ.ศ. 2293 ได้ทองคำหนัก  90 ชั่งเศษ หรือประมาณ 109 กิโลกรัม  2. ทธ. ได้เคยทำการสำรวจแหล่งแร่ทองคำ อ.บางสะพาน มาแล้วในอดีต พบว่าเป็นแหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพสูง เนื้อแร่ทองคำมีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง และมีสีเป็นเอกลักษณ์จนมีการกล่าวขานว่าเป็น ทองคำสีดอกบวบ มีขนาดเป็นเกล็ดแบน ตั้งแต่เล็กมากเป็นไรและขนาดเม็ดใหญ่เท่าเม็ดงา แต่บางครั้งชาวบ้านเคยร่อนพบขนาดใหญ่น้ำหนักหลายกรัม แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นสวนทุเรียนและผลไม้ ที่ดินจึงมีราคาแพง ในอดีตเคยมีการทำเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็กแต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงเลิกกิจการไป   3. จากการที่ฝนตกหนักมากในช่วงที่ผ่านมา น้ำฝนได้ชะล้างเปลือกดินในระดับลึกที่มีแร่ทองคำปะปน ไหลลงมาตามลำน้ำและสะสมตามตลิ่งและในท้องน้ำ เมื่อน้ำลดลงทำให้ชาวบ้านได้พบแร่ทองคำและพากับไปขุดร่อนแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแหล่งแร่บริเวณนี้พบทองคำเป็นเกล็ดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันทองคำในท้องตลาดมีราคาสูงประมาณบาทละ 10,000 บาท  อนึ่ง ทธ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในพื้นที่แล้วและจะรายงานผลให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป 

ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:39:55


ความคิดเห็นที่ 4 (3147705)
"สาวร่อนทองโชคดีได้ 7 บาท"

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 ม.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ 384/4 หมู่ 7 ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังทราบว่าเจ้าของบ้าน ซึ่งมีอาชีพรับจ้างและมีฐานะยากจน ประสบโชคดีขณะออกไปร่อนทอง บริเวณคลองทอง บ้านป่าร่อน ต.ร่อนทอง แล้ว พบทองนพคุณน้ำหนักกว่า 7 บาท

โดยนางนวลจันทร์ พูลนาค อายุ 43 ปี เจ้าของทองบางสะพานหรือทองนพคุณ ผู้โชคดีรับปีใหม่เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพรับจ้างก่อสร้าง ครอบครัวยากจนอยู่ด้วยกัน 5 คน ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหน เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงไปยืมเลียงเพื่อนบ้านออกไปร่อนทองกับญาติประมาณ 2-3 คน ตั้งแต่เช้าจนบ่าย 3 โมงเย็น ก็ไม่พบทองแม้แต่น้อย ด้วยความอ่อนเพลียจึงทรุดตัวลงนั่งพักเหนื่อย

ขณะนั้นเองเกิดนึกขึ้นได้ว่าน่าจะขอทองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเจ้าที่ จึงยกมือขึ้นไหว้พร้อมทั้งอธิษฐาน ขอให้พบทองเพื่อล้างหนี้สินที่ตน มีอยู่ หลังจากนั้นจึงลุกขึ้น แต่บังเอิญเสียหลักล้ม เอามือเท้าไปที่พื้น พบก้อนหินขนาดใหญ่คล้ายทอง จึงหยิบขึ้นมาดูแล้วรีบนำกลับบ้านไปล้างทำความสะอาด

ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น
ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น

"ขายได้กว่า 140,000 บาท"

ก่อนจะนำไปให้ร้านทองตรวจดู ปรากฏว่าเป็นทองนพคุณ หรือทองบางสะพาน เจ้าของร้านทองจึงขอซื้อในราคา 140,000 บาท ตนจึงตอบตกลงเพราะเห็นว่าได้ราคาที่พอใจ หลังจากนั้นจึงนำเงินที่ได้ไปล้างหนี้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือนำไปทำบุญและเก็บไว้ใช้จ่ายภายใน ครอบครัว

ทางด้านนายกฤษดา หมวดน้อย กรรมการชมรมท่องเที่ยว อ.บางสะพาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านพบทองบางสะพานน้ำหนัก 5 บาท มาแล้ว ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.ทองมงคล และใกล้เคียง หลังฤดูน้ำหลากผ่านไปก็จะมาหารายได้ด้วยการร่อนทองในคลองทอง บางครอบครัวมีรายได้จากการร่อนทองวันละกว่า 1,000 บาท และล่าสุดนางนวลจันทร์ร่อนทองพบทองนพคุณหนักกว่า 7 บาท ดังกล่าว และตน เชื่อว่าในพื้นที่ ต.ร่อนทอง ยังมีทองบางสะพาน หรือทองนพคุณอีกเป็นจำนวนมาก

สำหรับทองนพคุณ หรือทองบางสะพาน เป็นทองเนื้อบริสุทธิ์ เกือบจะเรียกว่าไม่มีอะไร เจือปน สีสันสุกวาว ปัจจุบันราคาทองบางสะพาน หากเป็นเกล็ดทองก็จะขายอยู่ที่บาทละประมาณ 7,000 บาท หากเป็นก้อนจะมีราคาถึงบาทละ 20,000 บาท.

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวสารที่มีคุณภาพ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวสารที่มีคุณภาพ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:41:07


ความคิดเห็นที่ 5 (3147708)
ทองบางสะพาน แหล่งทองเนื้อดีแห่งสุวรรณภูมิ ผู้จัดการออนไลน์

วันที่ 21 ก.พ. 2549
โดย ผู้จัดการรายวัน 20 กุมภาพันธ์ 2549 14:47 น.  ทองบางสะพาน หรือทองนพคุณเนื้อเก้า ได้ชื่อว่าเป็นทองคำเนื้อดีที่สุดของไทย            ไม่มีประเทศใด จะมีชื่อเสียงในความสมบูรณ์ทางแร่มากกว่าสยาม ดังจะเห็นได้จากพระพุทธรูปและเครื่องโลหะหล่อจำนวนมหาศาล และการที่ชาวสยามสกัดทองคำได้จำนวนมาก ซึ่งมิใช่จะใช้ประดับพระพุทธรูปที่มีอยู่จำนวนมากมายเหลือคณานับเท่านั้น แม้ในอาคารสถานที่ เช่น ฝาผนังห้อง เพดาน และหลังคาโบสถ์ยังดาษดื่นด้วยทองคำอีกด้วย มีบ่อแร่ทองคำเก่าพบกันอยู่ทุกวัน และก็ยังมีซากเตาถลุงจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าถูกทอดทิ้งไปเพราะสงครามกับพม่านานมาแล้ว                ส่วนหนึ่งของเนื้อความในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่ได้บันทึกเกี่ยวกับแร่ธาตุในสยามเอาไว้ เมื่อครั้งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สะท้อนให้เห็นว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดินมานาน และมีปริมาณมากจนได้รับการขนานนามว่า "สุวรรณภูมิ" โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย นับจากประจวบคีรีขันธ์ลงไป จัดเป็นแหล่งทองคำคุณภาพ จนได้รับการขนานนามว่า "แหลมทอง"                ถึงปัจจุบัน ข่าวการขุดพบทองคำในหลายจังหวัดของประเทศไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการขุดพบ "ทองคำ" ที่ ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์                ทองโบราณ เมืองโบราณ                กลางเดือนพฤศจิกายน 2548 สายน้ำได้โหมกระหน่ำเข้าท่วมอำเภอบางสะพานอย่างหนักในรอบ 55 ปี สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม หลังน้ำลดกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้กระแทกหน้าดินบริเวณคลองทอง ตำบลร่อนทองลอยไปกับสายน้ำ เผยให้เห็นเกร็ดทองติดอยู่ตามซอกหินและเศษดิน                จากวันนั้นจนทุกวันนี้ ยังคงมีชาวบ้านและผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาแสวงโชคร่อนทองอยู่ไม่ขาดสาย                สำหรับชาวบางสะพานแล้ว การขุดพบทองคำไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะแต่เดิมพื้นที่ตำบลร่อนทองเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกำเนิดนพคุณ ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองจึงถูกตั้งเป็นอำเภอบางสะพาน โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีการขุดพบแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก                การขุดและร่อนทองในอำเภอบางสะพานครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในปี พ.ศ. 2289 ผู้รั้งเมืองกุยได้ส่งทองร่อนหนัก 3 ตำลึง ถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์จึงเกณฑ์ไพร่จำนวน 2,000 กว่าคน ไปร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ คิดเป็นน้ำหนัก 54 กิโลกรัม หรือ 3,600 บาท จากนั้นนำทองทั้งหมดไปแผ่เป็นทองแผ่นใหญ่หุ้มยอดมณฑป พระพุทธบาทสระบุรี                ทองคำจัดอยู่ในกลุ่มแร่โลหะมีค่าเช่นเดียวกับ แร่เงิน และทองคำขาว ลักษณะการเกิดของทองคำมักเกิดเป็นธาตุอิสระในธรรมชาติ โดยอาจจะเกิดจากการผสมกับธาตุอื่น                แหล่งแร่ทองคำมี 2 ชนิด แบ่งเป็นแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยแบบปฐมภูมิส่วนใหญ่มักจะมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยายส่องดู เป็นส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน ส่วนแบบทุติยภูมิมักจะพบเป็นเม็ดกลม เกล็ดหรือไรเล็กๆ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิแล้วถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ในบริเวณต่างๆ เช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำใหญ่                สำหรับคุณสมบัติของทองบางสะพานหรือทองบางตะพานมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ทองนพคุณ" หรือ "นพคุณเนื้อเก้า" เป็นทองที่พบในธรรมชาติ ทองร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องถลุงจะเห็นเป็น "Nuggest"                อีกความหมายหนึ่งอธิบายตามหนังสือประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า ทองคำที่ซื้อขายกันนั้น เรียกตามเนื้อและตามราคา เช่น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 4 บาท เรียกว่า เนื้อสี่ ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 5 บาท เรียกว่า ทองเนื้อห้า ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 8 บาท 2 สลึง เรียกว่า ทองเนื้อแปดสองขา ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 9 บาท เรียกว่านพคุณเก้าน้ำ ดังนั้นทองนพคุณเนื้อเก้า จึงหมายถึง ทองที่มีราคาเก้าบาทต่อน้ำหนัก 1 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าทุกแหล่งในประเทศไทย และเชื่อว่าเป็น "แหล่งทองคำเนื้อดีที่สุดของไทย"                ขุดทองแสวงโชค                ทุกวันบริเวณคลองทอง ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพานเต็มไปด้วยนักแสวงโชคในท้องถิ่นและต่างถิ่น ทั้งขาประจำและขาจรหมุนเวียนเข้ามาขุดทองอย่างสม่ำเสมอ นักแสวงโชคซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายและหญิงวัยกลางคนสวมใส่อาภรณ์คลุมกายมิดชิดไม่ยี่หระต่อลำแสงอาทิตย์แผ่รังสีความร้อนไปทั่ว                หลายแผ่นหลังสู้แดดต่างก้มหน้าก้มตาใช้พลั่วขุดลงไปในดิน จากนั้นตักขึ้นมาใส่ลงไปในถังขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง พอเต็มถังจึงนำไปเทลงในภาชนะทำจากไม้ ทรงกลม ก้นแหลมคล้ายหมวกญวน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เลียง บางคนก็นำดินไปเทลงในกระทะเหล็ก จากนั้นจึงนำไปขยำกับน้ำให้เป็นโคลน แล้วเอียงเลียงให้น้ำในคลองได้พัดโคลนหมุนออกจากเลียง เหลือไว้เพียงแร่และทองคำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยติดอยู่ตามซอกหินและดินเหล่านั้น                สายน้ำไหลเอื่อยๆ ให้ความรู้สึกเย็นยามสัมผัส ตรงข้ามกับเ ปลวแดดจัดจ้านของพระอาทิตย์เที่ยงวันแผดเผาผิวกายจนแสบร้อน บรรดานักแสวงโชคยังคงหมุนเลียงเวียนจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายจนเศษดินค่อยๆพลัดหายไปกับสายน้ำตรงหน้า ซึ่งหากโชคดี ร่อนไปร่อนมาสิ่งที่เหลืออยู่ในก้นเลียงอาจจะเป็นเกร็ดเล็กๆ สีทองอร่าม ส่องแสงระยิบระยับ บางครั้งได้เป็นแร่ประเภทอื่น ซึ่งชาวบ้านมักจะทิ้งไปกับธารน้ำ                บุญลือ สัมฤทธิ์ คุณลุงวัย 57 ปี อาศัยอยู่ในตำบลร่อนทองตั้งแต่ปี 2510 ประกอบอาชีพทำไร่สัปปะรด พร้อมกับใช้เวลาว่างในการทำเลียงสำหรับร่อนทอง กระทั่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จึงใช้เวลาว่างจากการทำไร่ หันมาแสวงโชคดูบ้าง                "บ้านอยู่ใกล้ๆ มาตั้งแต่เที่ยงกว่าเหนื่อยๆ จากงานก็มาร่อนทอง มีความสุขดี ตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ไม่เคยคิดจะมาขุด อาศัยทำไร่ทำนา เพราะสมัยนั้นขุดยาก เวลาขุดจะต้องใช้เครื่องเจาะลงไป" ลุงบุญลือเล่า ขณะกำลังใช้สองมือยกพลั่วขุดลงไปในดิน                "ขุดตรงไหนก็ได้แต่ก็เลือกพื้นที่เหมือนกัน โดยดูลักษณะของดิน ถ้าเห็นว่าดินดูเหนียว ขยำยาก ก็จะไปหาบริเวณที่เป็นดินร่วน จริงๆแล้วดินเหนียวก็มีทอง แต่น้อย และก่อนร่อนต้องขยำดิน ยุ่งยากกว่าดินร่วน กว่าจะร่อนได้หมดเรียงก็นาน เพราะทองอยู่ตามซอกหิน บางบ่อขุดลงไปลึก บางบ่อก็ตื้น แต่ส่วนมากจะตื้น มาถึงก็ขุดซ้ำบ่อเดิม แต่ถ้าวันไหนมาไม่ทัน มีเพื่อนบ้านมาขุดไปก่อน ก็ไปหาบ่อใหม่ขุด ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ไม่ว่ากัน เพราะมันไม่ใช่พื้นที่ของใคร"                ลุงบุญลือยกถังบรรจุดินไว้เต็มไปร่อน พร้อมกับเอ่ยว่าวิธีการร่อนของแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความถนัด                "แล้วแต่บางคนชอบเลียงอันใหญ่ๆ ใส่ดินได้เยอะ แต่ผมชอบเลียงอันเล็กๆ ใส่ดินได้น้อย ร่อนสบายๆ ไม้ที่ใช้ทำเลียง ได้จากสารพัดไม้ โดยเฉพาะไม้ที่แตกยากๆ เช่น ไม้ขนุนจะดี แต่บางคนใช้กระทะเหล็กมาร่อนก็มี เหล็กลื่นง่าย คนร่อนไม่เป็น ทำให้ทองไหลไปกับน้ำ แต่ถ้าเป็นไม้เยื่อ ทองจะเหลือติดก้น ส่วนดินทรายจะไหลขึ้นมากองตามขอบกระทะ"                ใช้เวลาร่อนไม่นาน เศษดินก็หายไปจนหมด ถึงตอนนี้ในเลียงของลุงบุญลือมีเพียงหยดน้ำเกาะค้างอยู่ ลุงเล่าด้วยใบหน้ายิ้มๆ ว่า                "ใช้เวลาร่อนไม่นาน สิ่งที่เจอมีทั้งแร่และทอง แต่ส่วนใหญ่จะทิ้งแร่ ไม่เอา เอาแต่ทองอย่างเดียว ไม่เคยนับว่าร่อนไปแล้วกี่กระทะ ยิ่งวันไหนทองติดดียิ่งไม่เคยนับ ร่อนเสร็จก็ขุดต่อๆ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะนับ สัก 2 เที่ยวไม่ได้ก็จะย้ายบ่อขุดไปที่ใหม่"                "แล้วแต่ว่าวันไหนโชคดีก็ได้ทองเยอะ วันไหนทองติดดีก็คงจะกลับเย็นเกือบมืด พอได้เห็นหน้าทองก็เพลิดเพลิน แต่วันนี้โชคไม่ดีเลย ได้น้อย ถ้าวันไหนไม่ได้เห็นหน้าทองก็หมดแรง กลับบ้านเร็ว"                สำหรับทองที่ขุดได้นั้น ลุงบอกว่า "ทองที่ขุดได้ส่วนหนึ่งเก็บไว้ดู อยู่กับดงทองแต่ไม่มีทองของที่นี่เลย ทุกบ้านมีเกือบทุกครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย เหมาขายบ้าง บางคนซื้อเป็นเม็ด ซึ่งราคาจะแพงกว่า เดี๋ยวนี้ทองที่ขุดได้ก็มีราคาแพงขึ้น เพราะทองตามท้องตลาดราคาสูงขึ้นจากเมื่อก่อนราคาไม่แพง เดี๋ยวนี้ทองเกร็ดเล็กๆ หุนละ 260 บาท" ลุงบุญลือเล่า พร้อมกับหยิบกระปุกใส่ทองของเพื่อนบ้านมายื่นให้ดู ภายในมีทองเกร็ดเล็กบ้างใหญ่บ้างเกือบสิบเม็ด ซึ่งหากมีคนขอซื้อก็คงขายกันราคาประมาณสามพันกว่าบาท                นอกจากขึ้นชื่อว่าเป็นทองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ทองบางสะพานยังถือว่าเป็นของบริสุทธิ์ เป็นเครื่องรางของขลังอีกอย่างหนึ่งที่คนบางสะพานนิยมมีไว้ติดตัว บางคนนำเม็ดทองมาติดห่วงห้อยไว้กับสร้อยคอก็มี เช่นเดียวกับป้ายิน พูลนาค วัย 56 ปี เล่าเหตุผลที่มาขุดทองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นเพื่อนบ้านมาร่อนก็มีความต้องการจะมาร่อนทอง เพื่อนำไปเก็บไว้ดู เกิดความเป็นศิริมงคลกับตัว                ห่างจากหลุมที่ลุงบุญลือขุด หญิงวัยกลางคน 2 คนหันหน้าชนกัน ในมือของทั้งคู่กำลังสาละวนกับการร่อนทอง หลังเสร็จจากการร่อนทอง ป้าเรืองศรี พลครุฑ วัย 50 กว่าปี จึงเล่าที่มาที่ไปของการเดินทางจากจังหวัดชุมพร พร้อมกับเพื่อนอีก 6 ชีวิต เพื่อมาแสวงโชค                "ก็พอมีทักษะการร่อนอยู่บ้าง เพราะแต่ก่อนเคยร่อนแร่ วิธีการก็จะร่อนเวียนไปทางขวา แต่ก่อนทำอาชีพเลือกปลา เห็นข่าวว่ามีคนมาร่อนทอง เลยมาร่อนบ้าง เพิ่งมาร่อนได้ไม่กี่เดือน ทองที่ร่อนได้ ขายให้กับคนที่เดินทางมาดู หรือมาถามหาซื้อทองถึงที่ ถ้าตกลงราคาดีก็ขาย หรือไม่ก็นำไปขายที่ร้านทอง"                ป้าเรืองศรีชี้ให้ดูเพิงผ้าใบขนาดกลางใช้สำหรับเป็นที่พักแรมยามค่ำคืน พร้อมกับกล่าวว่า "คิดว่าจะร่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขุดหาทองไม่เจอ หรือจนกว่าจะท้อ"                คงมีนักแสวงโชคหลายคนคิดเช่นเดียวกับป้าเรืองศรี จึงทำให้ผืนดินบริเวณคลองทองที่เคยเรียบ เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยหลุมบ่อจำนวนมาก                ซึ่ง ศักดิ์ดา เอกพัฒนศิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า "พอน้ำป่าไหลหลาก หลังจากน้ำลด บริเวณคลองทองได้มีการค้นพบโครงกระดูกเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ แล้วก็มีหม้อดิน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งหลังจากหน่วยงานกองโบราณสถานเข้ามาดูพบว่าจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย                "นอกจากนี้ยังพบทองคำ จากทั่วสารทิศเข้ามาทำการเสี่ยงโชค ชาวบ้านมาขุดหาอะไรเล็กๆ น้อยๆ หลังทำสวนทำไร่ก็มาขุดเป็นอาชีพเสริม บางคนมาร่อนก็ได้ทองกลับบ้าน บางคนมาร่อนไม่ได้ทองเลยก็มี ขึ้นอยู่กับดวง ชาวบ้านเข้ามาขุดหาทอง จนทำให้ผืนดินที่เคยเรียบ กลายเป็นหลุมเป็นบ่อ"                ศักดิ์ เล่าต่อว่า ช่วงก่อนมีคนมาขุดหาทองเป็นพันๆ คน "ราคาทองหนึ่งบาทเท่ากับ 40 หุน หุนละ 750 บาท เดี๋ยวนี้ราคาสูงขึ้นมาเป็นหลักพัน อีกอย่างบ้านเราถือว่าทองเหล่านี้เป็นทองนพคุณ ใครมีไว้ครอบครองถือว่าเป็นสิริมงคล ดังนั้นคนบางสะพานจึงมักจะมีทองบางสะพานไว้ติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล"                เมื่อทองบางสะพานกลายเป็นที่ต้องการ จึงมีคนหัวใสคิดนำสารพัดทองทั้งจริงและเทียมมาหลอกว่าเป็นทองบางสะพาน        "บางคนเอาทองปลอมจากพม่า บ้างนำทองแท่งมาบดละเอียดแล้วมาหลอกขายว่าเป็นทองในท้องถิ่น พร้อมกับขายในราคาแพง" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกล่าว                เสน่ห์ทองบางสะพานยังคงมีมนต์ขลัง เย้ายวนให้ใครต่อใครแวะเวียนเข้ามาชื่นชม                ******                แหล่งแร่ทองคำซ่อนตัวอยู่ใต้แผ่นดินทอง                แหล่งแร่ทองคำที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ มี 3 แห่ง ได้แก่ บ้านบ่อทอง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, แหล่งโต๊ะโม๊ะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และบ้านป่าร่อน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์                บ้านบ่อทอง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี พบครั้งแรก พ.ศ. 2414 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเจ้าเมืองปราจีนบุรีสมัยนั้นดำเนินการทำเหมืองด้วยการขุดเจาะเป็นหลุมลึกลงไปเป็นอุโมงค์ใต้ดิน เริ่มทำเหมืองแร่ครั้งแรก พ.ศ. 2416 - 2421 แต่เนื่องจากสินแร่ที่มีความสมบูรณ์เริ่มหมดลง กอปรกับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงหยุดดำเนินการ ต่อมากรมโลหกิจหรือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในปัจจุบันจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ขึ้น และดำเนินการผลิตแร่ทองคำอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. 2493-2500 ครั้งนั้นได้ทองคำมากถึง 55 กิโลกรัม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำ                เหมืองทองคำบ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส สร้างก่อนปี พ.ศ. 2475 โดยชาวอังกฤษและฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำ หลังเกิดสงครามอินโดจีนรัฐบาลไทยจึงเข้าไปดำเนินการต่อ กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองถูกปล่อยร้าง ปัจจุบันเลิกดำเนินกิจการ แต่ยังหลงเหลือสิ่งก่อสร้างบางส่วน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สามารถหาชมการสาธิตวิธีร่อนทองแบบพื้นเมือง                นอกจากนี้ยังมีแหล่งแร่ทองคำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย ยกเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ราบสูงโคราชและพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง เช่น พ.ศ. 2542 ค้นพบสายแร่ทองคำใต้ดิน เป็นสายแร่ทองคำซึ่งอยู่บนดินและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนเขาพนมพา ลักษณะเป็นเนินเขาเล็ก ตั้งอยู่บนพื้นที่ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จ.พิจิตร นักโบราณคดีมาสำรวจซึ่งก็พบว่าสายแร่ตรงนี้ยาวไปถึงจังหวัดเลย ซึ่งก็มีการพบเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ภูทัพฟ้า และภูเหล็ก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย                โดยทั่วทั้งเมืองไทยมีแหล่งแร่ทองคำในที่ต่างๆ พอสังเขปดังนี้ บ้านผาฮี้ ดอยตุง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ,แหล่งแร่ทองคำบริเวณห้วยคำอ่อน บ้านแม่กระต๋อม ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ,แหล่งแร่ทองคำ อ.ลี้ จ.ลำพูน , อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ,อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ,อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี,อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ,จ.อุตรดิตถ์ , จ.สุโขทัย ,จ.ตาก ,จ.อุดรธานี , จ.ลพบุรี ,จ.กาฬสินธุ ,จ.พิษณุโลก ,จ.จันทบุรี ,จ.หนองคาย ,จ.สระแก้ว ,จ.ชุมพร , จ. สตูล ,จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา เป็นต้น                ***        เรื่อง - ศิริญญา มงคลวัจน์ (คอลัมน์: ผู้ จั ด ก า ร ป ริ ท ร ร ศ น์) ผู้จัดการออนไลน์    21 ก.พ. 2549   
ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:43:57


ความคิดเห็นที่ 6 (3147709)
ขุดทองบางสะพาน แค่หาลำไพ่ประจำปี ไทยรัฐ

วันที่ 7 ธ.ค. 2548
 
เป็นความเชื่อมาแต่โบราณ... ทองคำเนื้อดี บริสุทธิ์ที่สุดในโลก อยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ชื่อเสียง ของสายแร่ทองคำ จากเหมืองบางสะพาน ได้หายไปจากวงการกว่า 100 ปี เพราะทองถูกขุดไปจนหมด สิ่งที่ยังมีให้เห็นว่าบางสะพาน มีทองก็แค่ความรู้ในประวัติศาสตร์ กับชื่อร้านทองรูปพรรณ ที่เจ้าของร้านมักตั้งชื่อร้านให้เป็นมงคลแก่ร้านว่า... ร้านทองบางสะพาน หรือร้านร่อนทองคำ วันนี้ชื่อเสียงของทองบางสะพานได้หวนกลับมาอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าหลาก ท่วมบางสะพาน เมื่อกลางเดือนที่แล้ว...มีข่าว ผู้คนแห่กันไปขุดทองบางสะพาน...กันยกใหญ่ เนื่องจากน้ำป่าได้กัดเซาะหน้าดินให้สายแร่ทองคำที่ยังไม่มีใครขุดพบ...ให้ไหล ปนออกมากับสายน้ำ เป็นสายเม็ดทรายสีทอง เหลืองระยิบ ระยับทั่วท้องธารในคลองร่อนทอง อ.บางสะพาน ขุมทองบางสะพานฟื้นคืนชีพขึ้นมาในยุคราคาทองคำพุ่งพรวดอีกครั้งอย่างนั้นหรือ? บางสะพานมีสายแร่ทองคำให้ผู้คนได้ร่อนหามากล้นเหมือนอย่างที่เป็นข่าวแค่ไหน?  “ร่อนมา 4 วันเต็มๆ ผมยังไม่เจอสักเม็ดเลย” สุชาติ ไพสาลี หนุ่มใน ต.ร่อนทอง วัย 25 ปี เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยโคลนในคลองร่อนทอง กล่าวพร้อมกับส่ายหัวไปมาด้วยความผิดหวัง คนอื่นๆก็เหมือนกันหาไม่ค่อยได้ ทั้งที่ปีนี้น้ำมากเป็นพิเศษ แต่...ในช่วงต้นๆ ที่น้ำป่าไหลมา เมื่อประมาณวันที่ 20 พ.ย. 48 มีคนเจอทอง 3-4 เม็ด...ขนาดเท่าหัวไม้ขีด  ได้มาก็เอาใส่ขวดเล็กๆ เที่ยวเดินอวดไปทั่ว คนก็เลยแตกตื่นกันใหญ่คิดว่าน้ำคงพัดทองลงมาจากเขา รีบลงคลองไปร่อนหากันเต็มไปหมด สุชาติ บอกว่า สมัยนี้เจอทองเท่าหัวไม้ขีด ถือว่าโชคดีแล้ว เพราะการเจอมิใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่โชคดีจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ได้แค่ผงเล็กๆ ไม่ต่างกับเกล็ดทอง “การหาทอง การร่อนทอง ต้องทำในเวลากลางวัน แดดจัดๆยิ่งดี เพราะถ้าเจอมีทองไหลมา มันจะส่งประกายให้เห็นชัด  แต่ถ้าร่อนในช่วงแดดน้อยหรือช่วงเย็น บางคนได้ทองปนมากับหินทรายในมือแท้ๆ กลับโยนทิ้งไปเพราะมองเห็นประกายสีทอง ดังนั้นแสงสว่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ” แต่ความหวังของเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ กับหนุ่มใหญ่นั้นต่างกัน... มองเป็นเรื่องปกติ ไม่น่าตื่นเต้น ตื่นตูมแต่อย่างใด นายนิต วงษ์สมัย วัย 52 ที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “ผู้ช่วยฯดอน” เพราะมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ร่อนทอง ได้ยินข่าวผู้คนตื่นทองบางสะพานแล้วก็หัวเราะ “ความจริงคนที่นี่เขาไม่ได้ตื่นทองมากขนาดนั้น ชาวบ้านเขาออกร่อนทองกันตามปกติ ถึงฤดูน้ำป่าหลากเมื่อไหร่ ชาวบ้านเขาลงคลองมาร่อนกันเป็นอย่างนี้ทุกปี ไม่มีอะไรพิเศษ คุณคอยดู...อีก 2-3 เดือน พอน้ำแห้งคลอง คนหาทองก็จะน้อยลง หรือไม่มีเลย ต้องรอปีหน้า น้ำมาก็ค่อยมาร่อนหากันใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติจริง เป็นอยู่เช่นนี้มาตั้งสมัยพ่อของปู่ย่าแล้ว” ชาวบ้านลงไปร่อนทองมากเป็นพิเศษในช่วงหน้าน้ำหลาก เนื่องจากน้ำมีมาก น้ำเต็มคลอง...การร่อนหาทอง ทำได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ เพราะการร่อนทอง ต้องใช้น้ำมาก และน้ำต้องลึกพอสมควร ถึงระดับเอว “ฤดูอื่นๆ น้ำในคลองมีไม่มาก ลึกแค่ระดับท่วมตาตุ่มเท่านั้น ร่อนทองไม่ได้ แต่ก็มีบางจุดที่เป็นแอ่งน้ำลึกพอที่จะร่อนทองได้ ก็จะมีคนลงไปร่อนหาทองเหมือนกัน แต่จะไม่มากเหมือนฤดูน้ำหลาก ที่ชาวบ้านสามารถลงไปร่อนหาได้ทั่วทุกจุดของคลอง วันหนึ่งก็จะมีราวๆ 70-100 คน ก็ล้วนแต่เป็นคนในหมู่บ้านเท่านั้น คนที่อื่นไม่มีใครมา” สาเหตุที่คนพื้นที่อื่นไม่ยกขบวนแห่กันมาร่อนทอง ผู้ช่วยฯดอน บอก ไม่ใช่เพราะคนในหมู่บ้านกีดกันห้ามไม่ให้คนอื่นเข้ามาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะมาแล้วไม่คุ้ม มีแต่ขาดทุน เสียเวลาเปล่า เพราะทองบางสะพานทุกวันนี้ มีไม่มากเหมือนเมื่อก่อน เหตุผลอีกอย่าง คนนอกพื้นที่ไม่มีความชำนาญ ไม่เพียงต้องดูดิน ดูทราย ดูหินและดูทางน้ำเป็นเท่านั้น ยังต้องชำนาญเรื่องพื้นที่อีกด้วย “ที่ใครๆ บอกว่า น้ำป่าหลากลงมาจะปรับสภาพหน้าดินให้ทองโผล่ออกมานั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องบอกว่าใช่เลย เพราะพ่อแม่เคยเล่าให้ฟัง สมัยเมื่อ 60-70 ปีก่อน พอน้ำป่ามา เดินออกไปนอกบ้านก็จะเก็บเอาทองคำกลับมาด้วย เพราะเดินไปตรงไหนก็เจอตรงนั้น” แต่สมัยนี้มีการขุดหามากกว่าสมัยก่อนหลายร้อยเท่า ต่อให้น้ำป่าไหลลงทั้งปี ทองก็ไม่โผล่ให้เห็น เพราะทางน้ำที่ไหลลงนั้น มีการขุดกันซ้ำแล้วซ้ำอีก คนเก่าขุดแล้วกลบ คนใหม่มาขุดแล้วกลบอีก คนต่อมาก็มาขุดต่ออีก เป็นอย่างนี้มาตลอด เมื่อน้ำป่ามาแค่ 2-3 วัน แล้วจะไปปรับหน้าดินอะไรได้ อย่างดีก็แค่...ช่วยพัดเอาเศษฟืนเศษไม้ไปให้พ้นเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงมีแต่คนในพื้นที่เท่านั้นที่มาร่อนทอง ไม่ใช่ร่อนเพื่อหาความร่ำรวย แต่ร่อนเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เท่านั้นเอง “อาชีพหลักของคนที่นี่ ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์และรับจ้างทั่วไป คนที่ไม่มีอะไรทำ หรือวันใดว่างเว้นงาน ก็มักจะหอบเอาจอบเสียม และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ เลียงร่อนทอง ลงไปเสี่ยงโชคในคลอง หารายได้เสริมดีกว่าอยู่เฉยๆ” เลียงเป็นเครื่องมือสำคัญในการร่อนทองบางสะพาน มีลักษณะคล้ายหมวกเจ๊ก เป็นกรวยลึกบ้าง ตื้นบ้าง แต่ต้องทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่าเท่านั้น จะใช้วัสดุอื่นไม่ได้ เพราะลื่นไม่พอ  ด้วยเลียงต้องลื่น เรียบมัน เวลาจะหาทอง ก็เอาจอบ-เสียมขุดดินขึ้นมาแล้วใส่เลียง...จากนั้น หมุนส่ายไปมาในน้ำ เพื่อไล่โคลนออก ที่เหลืออาจเป็นหิน ทราย ดินก็จับโยนทิ้ง ถ้าโชคดี...ก้นล่างสุดของเลียง ก็จะเป็นทองคำบางสะพาน  เลียง...ของบางครอบครัว เห็นแล้วจะตกใจ มีอายุมากกว่า 200 ปี ตรงนี้...มักจะมีพ่อค้าของเก่ามาขอซื้อเลียงในราคาสูง เจ้าของถึงจะจนแสนจนอย่างไร ก็ไม่ยอมขายเพราะถือเป็นมรดกตกทอด ดังนั้น...คนในย่านนี้ จึงมีเลียงร่อนทองติดบ้านละหลายอัน ถึงจะมีเลียงมากแต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่นี่จะร่อนทองได้มาก...เลียงจำนวนมากเป็นแค่สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าในอดีตที่นี่มี ทองมาก มีคนร่อนทองมากเท่านั้นเอง ส่วนการร่อนทองในปัจจุบัน ผู้ช่วยฯดอน บอก...นานๆ ทีถึงจะมีคนโชคดี ได้ทองเท่าหัวไม้ขีดไฟ ที่ได้ๆกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่เศษผงเล็กๆ  “บอกตรงๆ กว่าจะได้เป็นผงมาก็แทบรากเลือด บางคนขยัน หามา 10 วันแล้ว ยังไม่ได้เลยก็มี คนที่โชคดีร่อนได้เศษผง เอาไปขายได้เงินมา 400-500 บาท ได้เท่านี้ คนที่นี่รู้ดี ส่วนที่มีข่าวได้ทองหนัก 5 บาท 10 บาท คงเป็นเรื่องฝันไปมากกว่า” เพราะถ้าใครเจอก้อนขนาดนั้นจริง ป่านนี้ตำบลร่อนทอง คงมีคนฆ่ากันตายเพราะแย่งทอง...ไปหลายสิบศพแล้ว. (คอลัมน์: สกุ๊ปหน้า 1)     ไทยรัฐ    7 ธ.ค. 2548
ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:45:36


ความคิดเห็นที่ 7 (3147710)
ข่าว >> ข่าวประชาสัมพันธ์
ทธ.รายงานเรื่องชาวบ้านตื่นทองบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมทรัพยากรธรณี

วันที่ 2 ธ.ค. 2548
 
ตามที่ หนังสือพิมพ์คมชัดลึกและข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2548 ได้ลงข่าวว่าชาวบ้านพากันไปร่อนทองคำ ที่บ้านป่าร่อน ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบางรายโชคดีพบทองคำก้อนหนักถึง 5 บาท   ทธ. ขอรายงานข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้   1. ทองคำที่บ้านป่าร่อน ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งแร่ทองคำโบราณ มีบันทึกไว้ว่า พบครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2290 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ครั้งนั้นได้โปรดให้ร่อนทองคำตั้งแต่เดือน 12 ถึงสิ้นเดือน 5 พ.ศ. 2293 ได้ทองคำหนัก  90 ชั่งเศษ หรือประมาณ 109 กิโลกรัม  2. ทธ. ได้เคยทำการสำรวจแหล่งแร่ทองคำ อ.บางสะพาน มาแล้วในอดีต พบว่าเป็นแหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพสูง เนื้อแร่ทองคำมีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง และมีสีเป็นเอกลักษณ์จนมีการกล่าวขานว่าเป็น ทองคำสีดอกบวบ มีขนาดเป็นเกล็ดแบน ตั้งแต่เล็กมากเป็นไรและขนาดเม็ดใหญ่เท่าเม็ดงา แต่บางครั้งชาวบ้านเคยร่อนพบขนาดใหญ่น้ำหนักหลายกรัม แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นสวนทุเรียนและผลไม้ ที่ดินจึงมีราคาแพง ในอดีตเคยมีการทำเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็กแต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงเลิกกิจการไป   3. จากการที่ฝนตกหนักมากในช่วงที่ผ่านมา น้ำฝนได้ชะล้างเปลือกดินในระดับลึกที่มีแร่ทองคำปะปน ไหลลงมาตามลำน้ำและสะสมตามตลิ่งและในท้องน้ำ เมื่อน้ำลดลงทำให้ชาวบ้านได้พบแร่ทองคำและพากับไปขุดร่อนแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแหล่งแร่บริเวณนี้พบทองคำเป็นเกล็ดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันทองคำในท้องตลาดมีราคาสูงประมาณบาทละ 10,000 บาท  อนึ่ง ทธ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในพื้นที่แล้วและจะรายงานผลให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป
ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:47:30


ความคิดเห็นที่ 8 (3147714)

มากคุณค่าทองเนื้อเก้า  ที่มาของ “ทอง” บางสะพาน แหล่งแร่ทองคำที่มีชื่อเสียง และรู้จักกันดีในประเทศไทย มีด้วยกัน ๓ แหล่ง ได้แก่ อำเภอ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และอำเภอ บางสะพาน จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพานเดิมชื่อ เมืองกำเนิดนพคุณ ตัวเมืองตั้งอยู่ที่ท่ามะนาว ฝั่งขวาของลำน้ำแม่รำพึง ต่อมาตั้งที่ท่ากะหลอ ปัจจุบันเรียกว่า บ้านหลักเมือง อยู่ริมฝั่งขวาลำน้ำบางสะพาน ซึ่งยังมีหลักฐานเสาหินหลักเมืองปรากฏอยู่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๗ มีการจัดการปกครองท้องที่เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองกำเนิดนพคุณถูกยุบเป็นอำเภอเมืองนพคุณ ขึ้นต่อเมืองชุมพร เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ตั้งเมืองประจวบคีรีขันธ์และยกอำเภอเมืองนพคุณขึ้นต่อเมืองประจวบคีรีขันธ์ และย้ายมาตั้งริมทางรถไฟ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางสะพานใน พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ปัจจุบันอำเภอบางสะพาน มี ๗ ตำบล ได้แก่ ตำบลกำเนิดนพคุณตำบลร่อนทอง ตำบลพงศ์ประศาสน์ ตำบลทองมงคล ตำบลชัยเกษม ตำบลแม่รำพึง และตำบลธงชัย (หรือบ้านกรูดนั่นเอง) ทองที่มีชื่อเสียงนั้น อยู่ในเขตหมู่บ้านป่าร่อน ตำบลร่อนทอง และบริเวณที่มีการขุดทองมากที่สุดอยู่ที่บริเวณห้วยจังหัน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๗๕๐–๒,๐๐๐ เมตร ปัจจุบันปริมาณทองลดน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีชาวบ้านมาร่อนทอง เพื่อเป็นอาชีพรองอยู่เสมอ ในอดีต บางสะพานเป็นเมืองที่มีการขุดและร่อนทองเป็นครั้งแรก สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในปี พ.ศ. ๒๒๘๙ เจ้าเมืองกุยได้ส่งทองร่อนหนัก ๓ ตำลึง นำถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์จึงเกณฑ์ไพร่จำนวน ๒,๐๐๐ คน ไปร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำหนัก ๙๐ ชั่งเศษ เป็นน้ำหนัก ๕๔ กิโลกรัม หรือ ๓,๖๐๐ บาท และได้นำทองทั้งหมดไป หุ้มยอดมณฑป รอยพระพุทธบาทสระบุรี แต่ยอดมณฑปนี้ถูกโจรจีนเผาหลอมทองเอาไปทั้งหมด เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๑๐)
 
อาชีพร่อนทอง อาชีพร่อนทอง เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเนื่องจากจะต้องขุดดินเป็นหลุมลึก บางครั้งก็ตื้น มีโอกาสพบทองหรือไม่ไม่สามารถจะบอกล่วงหน้าได้ จากเอกสารที่มีผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าและคำบอกเล่าของชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยยึดอาชีพขุดทอง พอจะนำมาเรียบเรียงถึงความเชื่อในการประกอบอาชีพร่อนทองของชาวบางสะพาน ได้ดังนี้ ความเชื่อ ก่อนที่จะขุดทองต้องมีการบวงสรวงเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งมีหลายรูปแบบ ตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อาทิ
-ห้ามสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณหลุมที่ขุดทอง
-ห้ามผู้หญิงที่มีรอบเดือนเข้าไปในบริเวณหลุมที่ขุดทอง
-เมื่อพบทองแล้วห้ามเรียกคนอื่นให้มาขุดที่เดียวกัน เพราะจะไม่พบทองอีกเลย
-ห้ามใส่เครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำไปขุด เพราะจะไม่พบทองคำเลย
-ใช้ขวดยานัตถุ์ผูกสะเอวเพื่อใส่ทองที่ร่อนได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กและพกติตัวได้สะดวก

คุณสมบัติของทองบางสะพาน “ทองบางสะพาน” หรือ “ทองบางตะพาน” มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีจนมีผู้กล่าวกันว่า “เป็นทองคำเนื้อดีที่สุดของเมืองไทยและในโลก” ทองที่พบเป็นทองธรรมชาติ เห็นเป็น Nuggest (ทองที่ขุดได้โดยไม่ต้องถลุง) อย่างชัดเจน เหลืองอร่าม สุกปลั่งและเนื้ออ่อน ทองร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นทองเนื้อเก้า เรียกว่า “นพคุณเนื้อเก้า” เชื่อกันว่าป้องกันภยันตรายและภูตผีปีศาจได้ดี ทองบางสะพาน หรือทองบางตะพาน หรือทองนพคุณนี้ในหนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ อธิบายไว้ว่า ทองคำที่ซื้อขายกันนั้น เรียกตามเนื้อและตามราคา เช่น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๔ บาท เรียกว่า เนื้อสี่ ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๕ บาท เรียกว่า เนื้อห้า ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๖ บาท เรียกว่า เนื้อหก ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๗ บาทเรียกว่า เนื้อเจ็ด ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๘ บาทเรียกว่า เนื้อแปด ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๘ บาท ๒ สลึง เรียกว่า ทองเนื้อแปดสองขา ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๙ บาท เรียกว่า นพคุณเก้าน้ำ

คุณสมบัติเด่นเฉพาะของทองบางตะพาน ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น นิราศนรินทร์  “บางสะพานสพาดพื้น ทองปาง แก่แฮ รอยชะแลงชระลุราง ร่อนกลุ้ม ระลึกโฉมแม่แบบบาง บัวมาศ กูเอย ควรแผ่แผ่นทองหุ้ม ห่อไว้หวังสงวน” ขุนช้างขุนแผน “เอาไม้สรรพยามาทำฝัก ผสมผงลงรักให้ผิวผ่อง กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง ทำด้วยทองบาทชาติบางตะพาน”
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:56:23


ความคิดเห็นที่ 9 (3147716)
http://www.komchadluek.net/detail/20090802/22708/%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2.html
ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 10:57:28


ความคิดเห็นที่ 10 (3147719)

เป็นเรื่องเล่าที่สาบสูญไปนาน ผู้เขียนพยายามหาอ่านรายละเอียดที่ไหนก็ไม่พบ เคยอ่านตอนเด็กสัก ๓๕ ปี ที่แล้ว ซึ่งพอจำได้บ้างก็อยากนำมาเล่าสู่กันฟังผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ขออภัยให้แคล้วคลาดมา ณ ที่นี้ด้วย 

   ศาสนาและวัฒนธรรม........................................................................................................ปัสสัทธิ
 
                                                      กำเนิดทองบางสะพาน

        เป็นเรื่องเล่าที่สาบสูญไปนาน ผู้เขียนพยายามหาอ่านรายละเอียดที่ไหนก็ไม่พบ เคยอ่านตอนเด็กสัก ๓๕ ปี ที่แล้ว ซึ่งพอจำได้บ้างก็อยากนำมาเล่าสู่กันฟังผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดก็ขออภัยให้แคล้วคลาดมา ณ ที่นี้ด้วย โดยประวัติทองบางสะพานเริ่มมีการขุดร่อนในลำธารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   ได้ทองประมาณ ๙๐ ชั่ง นำไปสร้างยอดมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นสักการะสถาน และ เป็นพุทธบูชา  ครั้นมาสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการกำหนดคุณภาพทองซึ่งทองบางสะพานถือว่าเป็นทองชั้นเลิศ บางคนเชื่อว่าเป็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก็บไว้บูชาก็มี  มีที่มาซึ่งบางส่วนก็ไม่มาดังนี้

        จำเนียรกาลก่อนครั้งบริเวณที่ชาวบ้านพบทองนพคุณ  ผู้มีอาคมท่านหนึ่งทราบว่าภูเขาแถบนั้นมีทองสุกปลั่งเยอะแยะซ่อนอยู่ ซึ่งเจ้าของเขาบังตาไว้    จึงทำพิธีจุดเทียนชัยขอดื้อ ๆ เปิดประเดิมเข้าไปในถ้ำเจอทองมากมาย    ท่านผู้มีอาคมเอากะลาตักทองคำแล้วยังไงต่อผู้เขียนก็จำไม่ได้ เพราะ ไม่ใช่คนแถวนั้นเลยคิดสะเปะสะปะว่าท่านคงห่อเก็บไว้ในชายผ้าขาวม้ามั๊ง สรุปว่าท่านจะใช้แพ็คเกจอะไรเราไม่รู้ ถ้าเป็นสมัยนี้ต้องถุงก๊อบแก๊บแหงม ๆ

        หรืออาจเป็นได้ว่าท่านเดินถือกะลาดุ่ยเพราะคนสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้   คนเล่าเป็นคนขี้สงสัยคนฟังเลยลำบากหน่อยนะครับ เพราะเล่าไปสงสัยไป    อีตอนอ่านก็ยังเด็กไม่ประสีประสา   กลับมาที่ตอนจอมคาถาเดินถือกะลา (?) เจอพ่อค้าเดินถือหาบเปล่าสวนทางเห็นทองเข้าก็เลยถามว่า “ไปได้ทองมาจากไหนล่ะพ่อรูปหล่อ”   ผู้มีวิชาเล่าให้ฟังพ่อค้าไม่ทราบคิดอย่างไร เพราะเหตุใดไม่ไปตักเองกลับขอแลกหาบกับทองกัน  พ่อรูปหล่อผู้มีวิชาเลยต้องลำบากกลับไปเอาทองใหม่ กระจาดใส่ทองมันใหญ่เสียเวลาตักเทียนชัยก็ใกล้หมดแท่งแล้วด้วย ท่านมัวโกยทองไม่ทันสังเกตกว่าจะเต็มหาบเทียนชัยก็ดับเสียแล้ว ท่านเลยติดตายอยู่ในนั้น

        เรื่องที่เกิดขึ้นโจษขานกันไปทั่วไม่ทราบใครปูดข่าว   พ่อค้าคนนั้นอาจเป็นเจ้าที่เดิมปูดเรื่องทั้งหมดเพื่อหลอกเอาผู้มีวิชาไปทำหน้าที่แทน คิดแบบละครหลังข่าวน่ะครับ  ทุกคืนวันเพ็ญชาวบ้านไม่หลับไม่นอนมักจะเห็นวัวทองคำมาเพ่นพ่านเล็มหญ้า และถ่ายมูลเป็นทองคำแต่ไม่ทราบว่าผู้มีวิชาท่านนั้นออกมาเลี้ยงวัวด้วยหรือเปล่า บางคนได้มูลวัว..เอ้ย! ทองคำไปเลยเริ่มมีคนเข้ามาหาทองคำกันมากขึ้น   ทุกครั้งนักแสวงโชคจะทำพิธีบวงสรวงขออนุญาตจากท่านก่อน ผู้เขียนจำได้จำกัดจำเขี่ยจะใส่ไข่แบบนักเล่าก็กลัวบาป เลยเล่าเท่าที่รู้ และ สันนิษฐานแจมส่งเดช  ใครเป็นผู้สันทัดกรณีก็ช่วย ๆ กัน   ผู้เขียนยังนึกอีกว่าเขาทำไมไม่เอายาถ่ายไปรดหญ้าให้วัวทองคำกินซะให้รู้แล้วรู้แร่ด  จะได้ทองเยอะ ๆ ไม่ต้องไปร่อนให้มันเมื่อยเอว ให้วัวมันเมื่อยแทนดีกว่า จบเรื่องนี้แล้วผู้เขียนก็ยังหวาดคุณภาพชีวิตของตัวเองว่าจะแคล้วคลาดจากผู้อ่านขาเฮ้วรึเปล่า แต่ก็เอาเถอะเพราะอยากเล่าสุด ๆ  ยังไงเฉลี่ยไปทาง บ.ก. บ้าง มีอะไรดีก็แบ่งกันไป
แค่ทองก้อนนี้ก็รวยไม่เกรงใจใครแล้วครับ/บางคนนำทองบางสะพานมาบูชาครับ

ร่อนทองกันเป็นทีมครับคุณลูกก็มา (ดูงานไว้นะลูก เผื่อโตขึ้นจะได้ร่อนเป็นกับเขามั่ง)
นิราศถลาง “กล่าวถึงทองบางสะพาน”
       กระทั่งถึงบางสะพานสถานที่             มีทองดีแต่บุราณนานหนักหนา
บังเกิดกับกายสิทธิ์อิศรา                             ไม่มีราคีแกมแอร่มเรือง
เนื้อกษัตริย์ชัดแท้ไม่แปรธาตุ                       ธรรมชาติสุกใสวิไลเหลือง 
ชาติประหังหุงขาดบาทละเฟื้อง                  ถึงรุ่งเรืองก็ยังเยาเบาราคา
บางตะพานผุดผ่องไม่ต้องหุง                     ราคาสูงสมศักดิ์ศรีดีหนักหนา
พี่อยากได้เนื้อทองให้น้องทา                       แต่วาสนายังไม่เทียมต้องเจียมใจ

 

ประเด็นคำถาม
        1. อำเภอบางสะพานตั้งอยู่ในจังหวัดใด      
        2. โดยประวัติทองบางสะพานเริ่มมีการขุดร่อนในลำธารตั้งแต่สมัยใด        

ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 11:03:53


ความคิดเห็นที่ 11 (3147721)

ตื่นทั่วปท.แห่ขุดทองบางสะพาน นักแสวงโชคจากทั่วประเทศตื่นร่อนทอง เผยชาวบ้านจากภาคกลาง-อีสาน-ใต้ ลงพื้นที่อ.บางสะพาน เพื่อร่อนหาทองคำแท้ๆ หลังมีข่าวชาวบ้านพบทอง จึงแตกตื่นกันเดินทางมาเสี่ยงโชค ช่วงแรกๆ บางคนแค่มาเที่ยว แต่เห็นชาวบ้านได้ทองคำจริงๆ จึงไปหาซื้ออุปกรณ์ร่อนทองมาหาบ้าง จนอุปกรณ์ขาดตลาด ต้องใช้กระทะ หม้อหุงข้าว หรืออุปกรณ์ที่หาได้มาใช้แทน ชาวบ้านหวั่นเจ้าหน้าที่จะจับกุมหรือสั่งห้าม บางคนจึงกลัวหนีกลับบ้าน หลายฝ่ายแนะควรทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ จำนวนมาก เดินทางไปที่บ้านป่าร่อน หมู่ที่ 6 ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่อนหาทองคำแท้ จากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ซึ่งกระแสน้ำรุนแรงได้พัดเอาหน้าดิน ต้นไม้ ก้อนหินขนาดเล็ก ไปกับน้ำและทับถมอยู่ในที่ต่างๆ หลังน้ำลดปรากฏว่ามีผู้พบทองกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะคลองทอง หมู่บ้านป่าร่อน

ในวันนี้มีชาวบ้านจำนวนมากนำอุปกรณ์ที่เรียกว่า "กระล่อน" มาร่อนหาทอง ปรากฏว่ามีหลายคนพบทองคำหลายขนาด ซึ่งเมื่อชาวบ้านได้มา นักท่องเที่ยวก็จะเข้าไปขอดู ขอซื้อ จนกระทั่งบางรายอดใจไม่ไหวลงมือซื้ออุปกรณ์ร่อนทองเอง จนอุปกรณ์ขาดตลาด บางคนต้องใช้กระทะ หม้อหุงข้าว กะละมัง หรืออุปกรณ์ตามที่หาได้มาร่อนทองกันอย่างคึกคัก

นายโสพงษ์ พงษ์เสน อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60/1 หมู่ที่ 5 ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้หมดตัว เมื่อทราบว่ามีทองโผล่หลังน้ำลด จึงได้นำครอบครัวมา ใช้กระล่อน กระทะ กะละมัง มาช่วยกันร่อนหาทองได้มาบ้าง มีทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ นักท่องเที่ยวมาขอซื้อ ก็จะขายไปตามแต่ตกลงกันไม่มีราคาที่แน่นอน สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวไปซื้อหาอาหาร เสื้อผ้า และสิ่งของจำเป็นได้ และจะขอทำอาชีพนี้ไปก่อนระยะหนึ่งจึงจะไปประกอบอาชีพอื่นต่อไป

นายเล็ก แซ่ชิน อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 17 ม.6 ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน กล่าวว่า ครอบครัวตนร่อนทองตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ในครั้งนี้หลังจากน้ำท่วมใหญ่ได้ชะล้างหน้าดินของคลองทองให้กว้างมากขึ้น ชาวบ้านที่เคยมีอาชีพร่อนทองก็ได้ทำกิน บางรายไม่เคยร่อนทองก็มาดูทดลองร่อนทองกันเป็นจำนวนมากวันละเป็นพันคน และยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมไม่เคยขาด โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

"มีข่าวลือว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาจับชาวบ้านที่ร่อนทอง ทำให้เกิดการแตกตื่น คนหนีกลับไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจับเพราะอะไรเพราะการร่อนทองที่เป็นอาชีพเป็นวิถีชีวิตแต่โบราณ จึงอยากจะให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้คลองทอง อ.บางสะพาน เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนอาชีพการร่อนทองของชาวบ้านก็อนุรักษ์ให้อยู่คู่กันตลอดไป" นายเล็กกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านได้ทำการร่อนทองกันอย่างสนุกสนาน มีเจ้าหน้าที่เปิดเผยตัวว่ามาจากกรมทรัพยากรธรณีมาหาข้อมูล โดยชาวบ้านพยายามสอบถามแต่ไม่ได้เปิดเผยถึงความคิดเห็น บอกแต่เพียงว่าจะนำข้อมูลไปนำเสนอผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจเกรงเจ้าหน้าที่จะสั่งห้ามเข้าไปร่อนทองในคลองทองอีกต่อไป

ผู้แสดงความคิดเห็น ck วันที่ตอบ 2009-12-28 11:06:13


ความคิดเห็นที่ 12 (4100376)

 

 

 

ผมเคยเข้าไปร่อนทองที่ บริเวณสะพาน ใน ต ร่อนทอง  พบมีคนกำลังร่อนทองกันอย่างสนุก ส่วนใหญ่มืออาชีพ

ส่วนผมนั้นใฝ่รู้มากกว่า หลังเดินทางกลับจากอังกฤษแล้ว

และตนเองเป็นหลานของพระอธิกช่วง วิสารโท อดีตพระคู่สวัดของอำเภอบางสะพาน และเจ้าอาวาสพระอธิการวาสวัดเขาถ้ำม้าร้อง

ที่คนรู้จักท่านว่าปู่ช่วง พระเกจิรูปหนึ่งที่มีชื่อ ท่านอายุ109 ปี   และเคยมักคุ้นเคยช่วยงานท่านนายอำเภอธวัช   ธนจินดา  อดีตนายอำเภอคนดังของ อ บางสะพานนี้ท่านหนึ่ง   และอาศัยจากจุดนี้ผมจึงเข้าไปหาความรู้เรื่องทองคำที่ ต. ร่อนทอง บางสะพาน

ในสมัยหนึ่ง  ผมเข้าไป พร้อมกล้องแต่ไม่ไดใช้  เพราะยุงกัด  แน่นอนคนไม่เคยไปมาที่นี่น่ากลัว ผมได้อ้างอิงที่กล่าวแล้วมา ผมจึงเข้าไป

 

ลองร่อนดูสนุกดี แต่เมื่อไปดูแบ้ว เพราะเรื่องทองที่นี่มีประวัติศาสตร์   เช่นในนิราศนรินทร์และที่อื่นๆอีกมากอ้างไว้จากสมัยอยุธยา  ผมลงไปเล่นน้ำที่ทองมีอยู่และเหนื่อยกลับมา

มีคนลงไปร่อนตลอดเวลาทั้งมือาชีพและสมัครเล่น

 

และแวะไปไทรคู่และวังน้ำเย็น คีรีล้อม  และเขื่อน   ม. ธรรมรัตน์ ...    เขตอำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ติดกันมีความสัมพันธ์กันมาก  ต.บลบางสะพาน เป็นตำบลสำคัญของอำเภอบางสะพานน้อยแต่ว่าชื่อตำบลบางสะพาน กลับเป็นชื่อของอำเภอบางสะพาน ที่เป็นอำเภอสำคัญของจังหววัดประจวบอำเภอหนึ่ง จะเข้าไป เหมืองนายเอี้ยงแต่มืดมาก  และไกล ป่าไม้บอกว่าอันตราย  มีเสือดำ เสือโคร่ง.. และควรเข้ามาในเวลาราชการ

 

นายมาติณ ถีนิติ

บันทึก

 

ผู้แสดงความคิดเห็น marttrinii@gmail.com วันที่ตอบ 2018-01-27 08:50:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
Share